วันพุธที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2565

วช. สนับสนุนทีมวิจัย ม.นเรศวร ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตองุ่นไชน์มัสแคทเพื่อการพาณิชย์ เผยจุดเด่นทำให้เป็นองุ่นไร้เมล็ด เพิ่มมูลค่า และเก็บเกี่ยวได้ 2 รอบต่อปี

  


วช. สนับสนุนทีมวิจัย ม.นเรศวร ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตองุ่นไชน์มัสแคทเพื่อการพาณิชย์ เผยจุดเด่นทำให้เป็นองุ่นไร้เมล็ด เพิ่มมูลค่า และเก็บเกี่ยวได้ 2 รอบต่อปี

 ซึ่งนอกจากจะเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรผู้ปลูกองุ่นแล้ว ยังทำให้คนไทยเข้าถึงการบริโภคองุ่นพันธุ์นี้ได้ง่ายขึ้นและลดการนำเข้าจากต่างประเทศ





เก็บตก... จากงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 กับอีกหนึ่งบูธที่ได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมงานเป็นอย่างมากจากการนำเสนอผลงานที่มุ่งยกระดับผลผลิตทางเกษตรเพื่อการพาณิชย์และการส่งออกในอนาคตของทีมวิจัยจากคณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวรที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)



ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ในภาคการเกษตร การปลูกผลไม้ให้มีคุณภาพสูง และได้มาตรฐานจนเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศได้นั้น เกษตรกรผู้ปลูกจำเป็นต้องอาศัยองค์ความรู้ เทคโนโลยี และเงินลงทุนค่อนข้างสูง อย่างเช่น การปลูกองุ่นไชน์มัสแคทที่จำเป็นต้องสร้างโรงเรือนและต้นพันธุ์องุ่น รวมทั้งอาศัยหลักการจัดการที่ถูกต้อง โดยใช้เทคโนโลยีการผลิตและหลังการเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม  สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จึงได้สนับสนุนทุนวิจัยให้กับโครงการ “การจัดการความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตองุ่นไชน์มัสแคทเพื่อการพาณิชย์” ในปีงบประมาณ 2563  ภายใต้โครงการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อชุมชน เพื่อยกระดับกระบวนการผลิตพร้อมทั้งถ่ายทอด สร้างความรู้ความเข้าใจให้เกิดแก่เกษตรกร ตลอดจนเพิ่มศักยภาพและสร้างมาตรฐานการผลิตองุ่นไชน์มัสแคท  เพื่อการพาณิชย์และการส่งออกในอนาคต  โดยมี “รศ.ดร.พีระศักดิ์  ฉายประสาท” ผู้อำนวยการสถานความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นหัวหน้าโครงการ เปิดเผย ถึงที่มาของโครงการดังกล่าวว่า  เนื่องจากทีมวิจัยได้รับการสนับสนุนจากสโมสรโรตารี่สากลในการไปฝึกอบรมพร้อมกับเกษตรกรที่ประเทศญี่ปุ่น ก่อนที่จะกลับมาช่วยพัฒนาการผลิตองุ่นไชน์มัสแคทในประเทศไทย  หลังจากนั้นจึงได้รับทุนวิจัยจาก วช.ในการจัดอบรมเพื่อถ่ายทอดความรู้แก่นักวิชาการ เกษตรกรผู้ปลูกองุ่นไชน์มัสแคทและผู้ที่สนใจในปี 2564

                                

“จากที่เราไปศึกษาที่ประเทศญี่ปุ่นทั้งเรื่องเทคโนโลยีการปลูก การเก็บเกี่ยว และการเก็บรักษา ซึ่งก็ได้นำมาถ่ายทอดให้กับเกษตรกรจริงๆ ที่เมืองไทยและได้ผลผลิตเรียบร้อยแล้ว  โดยที่ผ่านมามีการถ่ายทอดองค์ความรู้ไปแล้ว 2 รุ่น  เช่น การใช้องุ่นพันธุ์ไชน์มัสแคทต่อยอดกับองุ่นป่า และกระบวนการในการทำให้องุ่นออกดอก และติดผล ซึ่งจุดเด่นของโครงการนื้คือ สามารถทำให้เกิดเป็นองุ่นไร้เมล็ดที่มีราคาสูงขึ้นได้ เกษตรกรผู้ปลูกองุ่นในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างสามารถปลูกจนจำหน่ายได้จริงแล้วในเชิงพาณิชย์  และสามารถเก็บเกี่ยวผลองุ่นได้ถึง 2 รอบต่อปี”



รศ.ดร.พีระศักดิ์ กล่าวว่า การพัฒนาการปลูกองุ่นพันธุ์ไชน์มัสแคท ซึ่งมีราคาสูง นอกจากจะทำให้คนไทยเข้าถึงการบริโภคองุ่นพันธ์นี้ง่ายขึ้นแล้ว ยังทำให้กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกองุ่น เช่น ในพื้นตำบลวงฆ้อง อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก มีคุณภาพชีวิตหรือเศรษฐกิจดีขึ้น เนื่องจากมีรายได้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 15 % และสามารถลดการนำเข้าองุ่นไชน์มัสแคทได้ ซึ่งในอนาคตทีมวิจัยอยากให้โครงการนี้ขยายพื้นที่ปลูกไปยังจังหวัดอื่นๆ  เพื่อมีการผลิตที่เพียงพอกับความต้องการบริโภคภายในประเทศ 




อย่างไรก็ดี  ภายในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 คณะเกษตรศาสตร์ฯ จากมหาวิทยาลัยนเรศวร  ยังได้ นำผลงาน “การจัดการความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตทุเรียนหลงลับแลและหมอนทองเชิงพาณิชย์ในเขตภาคเหนือตอนล่าง” ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก วช. มาจัดแสดง ซึ่งนอกจากจะมีการฝึกอบรมเกษตรกรในการเรื่องของเทคโนโลยีการปลูก การดูแลรักษา การแก้ปัญหาแพร่ระบาดของแมลง และการเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว  ยังมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการตรวจสอบคุณภาพของผลทุเรียน  ทดแทนวิธีการเดิมที่เกษตรกรดูจากสีผิว หนาม และใช้ไม้เคาะ เพื่อประเมินความแก่ของผลทุเรียน โดยเครื่องตรวจสอบความแก่ของผลทุเรียน เป็นเทคโนโลยี NIR (Near Infrared ) ที่นำเข้าจากต่างประเทศ และนำมาพัฒนาเพิ่มเติมในส่วนของสมการที่พัฒนาขึ้นโดยอาศัยการเก็บข้อมูลจริงกว่า 400 ตัวอย่างเพื่อให้การตรวจวัดหาค่าน้ำหนักแห้งในผลทุเรียนที่มีความอ่อน-แก่ในระดับต่าง ๆ  มีความแม่นยำมากขึ้น


นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาในส่วนของแพคเกจสำหรับห่อหุ้มเนื้อทุเรียนแกะแล้ว ซึ่งจะมีแผ่นดูดซับความชื้นและการใช้สารในการชะลอการสุก มีกระบวนการในการบรรจุ   ยืดอายุการเก็บรักษาทุเรียนแกะเปลือกได้นานขึ้นถึง 25 วัน ซึ่งเป็นวิธีที่เหมาะสมในการขนส่งทุเรียนแกะเปลือกพร้อมบริโภคไปยังประเทศปลายทางต่างๆ โดยทีมวิจัยได้มีการพัฒนาและถ่ายองค์ความรู้ ให้กับบริษัทส่งออกเรียบร้อยแล้ว

yaipearn
yaipearn

This is a short biography of the post author. Maecenas nec odio et ante tincidunt tempus donec vitae sapien ut libero venenatis faucibus nullam quis ante maecenas nec odio et ante tincidunt tempus donec.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น